ฟังวิทยุออนไลน์

หนองคาย - จัดปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง

หนองคาย - จัดปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง
        วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม 2565 เวลา 08.30 ที่ห้องประชุมแกรนด์เบญจวรรณ โรงแรมหนองคาย ธาวิลล่า อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จังหวัดหนองคาย โดยมีนางสาวสิริมา วัฒโน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นประธานเปิดงานฯ  
        สำหรับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ชื่อเดิม คือ โครงการห้วยโมง (Huai Mong Project) ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2525 แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2530 มีพื้นที่รับน้ำ 2,718 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณฝนเฉลี่ยรายปี 1.379 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำท่ารายปี 986 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด คือ จังหวัดเลย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดหนองคาย 
        นายสุนทร คำศรีเมือง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง กล่าวว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง เปิดดำเนินการมาเป็นระยะเวลานานตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการที่ผ่านมาโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วโมง สร้างโอกาสและมีส่วนในการพัฒนาพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันการบริหารจัดการไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเต็มที่ เนื่องจากปัญหาต่างๆ ดังนี้
1) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง ใช้งานมาเป็นระยะเวลายาวนานจึงมีการชำรุดทรุดโทรมต้องมีการซ่อมแซมเป็นประจำ 2) ปริมาณน้ำเก็บกักมีไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร จำเป็นต้องสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าเติมในอ่างเก็บน้ำห้วยโมง 3) ปริมาณน้ำส่วนเกินที่ต้องระบายออกในฤดูน้ำหลากมีปริมาณมากในขณะที่ ช่องระบายน้ำมีเพียงช่องเดียว  4) มีน้ำขังในพื้นที่การเกษตรเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถระบายได้ทันต่อความต้องการของเกษตรกร  5) ตลิ่งลำห้วยโมงบริเวณอาคารควบคุมระดับน้ำ (Regulator) มีการกัดเซาะที่ รุนแรงและมีการทรุดตัว 6) การบริหารจัดการและการพัฒนาบริเวณต้นน้ำอยู่นอกเหนือการควบคุมโครงการฯ
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง ตั้งอยู่บริเวณปลายน้ำของลุ่มน้ำห้วยโมง ซึ่งต้องรองรับการระบายน้ำจากพื้นที่ตอนบนทั้งหมด ประกอบกับปัจจุบันการใช้ประโยชน์ที่ดินเปลี่ยนแปลงไป มีการเร่งระบายน้ำจากพื้นที่ ตอนบนเร็วและมากขึ้นแต่โครงการฯไม่สามารถปิดประตูน้ำห้วยโมง เพื่อระบายน้ำออกได้อย่างเต็มที่นัก เนื่องจากอิทธิพลของน้ำโขง อีกทั้งยังมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางไหลของน้ำ จึงส่งผลกระทบไปยังพื้นที่เหนือน้ำและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง นอกจากนี้พนังกั้นน้ำของโครงการฯ ซึ่งขวางกันทางน้ำเดิมที่เคยระบายไปทางลำห้วยคุกส่วนหนึ่ง ไม่สามารถระบายได้จึงทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมประจำทุกปี
       จากปัญหาดังกล่าว กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดการประชุมปฐมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยโมง จังหวัดหนองคายขึ้น เพื่อชี้แจง แนะนำโครงการ และนำเสนอแนวทางการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นของโครงการฯ รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อขอบเขตการศึกษาและแนวทางการพัฒนาโครงการฯ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น เป็นที่ยอมรับของประชาชน ซึ่งกรมชลประทานและคณะผู้ศึกษาพร้อมรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar