ฟังวิทยุออนไลน์

ดูแลสิ่งแวดล้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยทุกระดับ

ในอดีตการแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การรุกล้ำหรือการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า มักถูกเลือกแก้ปัญหาในมิติด้านการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว เช่น เมื่อพูดถึงการอนุรักษ์ป่า มักเกิดการกีดกันไม่ให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าตามวิถีชีวิตในอดีต การขีดเส้นแบ่งระหว่างคนกับป่า ทำให้ชุมชนที่อยู่โดยรอบถูกผลักออกมา เกิดปัญหาสิทธิทำกิน สิทธิอยู่อาศัยในพื้นที่ทับซ้อนระหว่างพื้นป่ากับพื้นที่ของชุมชน เกิดความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับชุมชน

 

ป่าอยู่ได้ ก็ต่อเมื่อคนอยู่ได้ แนวทางการแก้ปัญหาใหม่ที่เห็นผล

       การเข้ามาแก้ปัญหาของรัฐบาลได้ปรับมุมมองจากการ “กันคนออกจากป่า” มาสู่การทำให้ “คนอยู่ร่วมกับป่า” โดยยึดหลัก “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้” มีการปรับแก้กฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้คนที่อยู่รอบป่าสามารถใช้ประโยชน์จากผืนป่าภายใต้การกำกับดูแลอย่างเหมาะสม และหันมาเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรผืนป่าและสร้างความหวงแหนผืนป่าที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนได้อย่างแท้จริง เช่น การแก้ไขกฎหมาย พระราชบัญญัติป่าชุมชน ช่วยไม่ให้ชาวบ้านที่เก็บของป่ามาขายต้องถูกจับเหมือนในอดีต  และให้อำนาจชาวบ้านในชุมชน ในการตัดสินใจดูแลและใช้ประโยชน์จากป่าไม้ของชุมชนตัวเอง ณ ปัจจุบัน มีการประกาศจัดตั้งป่าชุมชนไปแล้ว 11,327 ป่าชุมชน พื้นที่ 6.29 ล้านไร่ และตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนป่าชุมชนให้ได้ 15,000 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ป่ากว่า 10 ล้านไร่

 

จากไม้หวงห้าม สู่ไม้มีค่า เกิดการปลูกป่าอย่างยั่งยืน

       ในอดีตต้นไม้ยืนต้นหลายชนิด จะสร้างประโยชน์เป็นเม็ดเงินกลับมาให้กับเจ้าของได้ก็ต่อเมื่อต้นไม้เหล่านั้นถูกตัดโค่น และแปรสภาพเป็นแผ่นไม้ที่นำไปใช้ประโยชน์ ทำให้คนที่มีพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกป่าก็เลือกที่จะไม่ปลูกเนื่องจากความยุ่งยากในการขออนุญาตใช้ประโยชน์ในไม้ยืนต้นที่แม้จะปลูกด้วยตัวเองก็ตาม

       ในปี 2562 รัฐบาลได้ปลดล็อกพระราชบัญญัติป่าไม้ อนุญาตให้ประชาชนปลูกไม้หวงห้าม 158 ชนิดในพื้นที่ของตัวเอง โดยไม่ถือเป็นไม้หวงห้ามอีกต่อไป อีกทั้งรัฐบาลยังได้เปิดให้ลงทะเบียน “ปลูกไม้มีค่า” กับกรมป่าไม้ ถ้าปลูกในที่ดินของตัวเอง มีเอกสารสิทธิถูกต้อง ก็สามารถทำไม้ ตัด แปรรูป ส่งออก หรืออื่น ๆ ได้ ซึ่งนอกจากประโยชน์ทางตรงที่ประชาชนจะได้จากการใช้ที่ดินของตัวเองให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเกิดประโยชน์ทางอ้อมคือการเพิ่มขึ้นของพื้นที่สีเขียวจากไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นกว่าแสนไร่

       ขณะเดียวกันได้มีการผลักดันให้ประชาชนสามารถนำ “ไม้มีค่า” (ไม้ยืนต้น 58 ชนิด เช่น สัก ประดู่ พะยูง เต็ง มะค่าโมง เป็นต้น) สามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรได้อีกด้วย ทำให้ประชาชนที่เป็นผู้ปลูกไม้เหล่านั้นเอง สามารถมีรายได้หรือมีเงินทุนหมุนเวียนเพียงแค่นำไม้ยืนต้นไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ โดยไม่ต้องตัดหรือแปรสภาพจึงจะสร้างรายได้เหมือนในอดีต ทำให้ผู้ปลูกส่วนใหญ่เลือกจะไม่ตัดไม้เหล่านั้น เกิดไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

 

บริหารจัดการพื้นที่ลดข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน

       จากแนวคิด “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ได้” แม้จะมีการเปิดโอกาสให้คนที่มีที่ดินทำกิน มีที่อยู่อาศัย โดยที่ผ่านมามีการจัดสรรพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ /ป่าชายเลน /ที่สปก. /ที่ราชพัสดุ /ที่สาธารณะประโยชน์ นับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน จัดสรรให้แล้ว  60,419 ราย 74,612 แปลง คิดเป็นพื้นที่ 665,000 ไร่ โดยมีการสนับสนุนระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่นมีน้ำใช้ มีไฟส่องสว่าง และมีถนนเข้าถึงชุมชน รวมถึงส่งเสริมและพัฒนาอาชีพที่เหมาะสม เช่น การปลูกต้นไม้ในพื้นที่เป็นอาชีพเสริม เพื่อชุมชนมีรายได้เพี่มจากโครงการคาร์บอนเครดิตอีกด้วย แต่ขณะเดียวกันสำหรับพื้นที่ป่าชั้นในที่เป็นป่าต้นน้ำ ก็มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยการมีส่วนร่วมจากชุมชนที่อยู่โดยรอบที่หันมาเป็นแนวร่วมกับรัฐ คอยเป็นหูเป็นตาการลักลอบเข้ามาตัดไม้ทำลายป่า ทำให้การอนุรัก์พื้นที่ป่าต้นน้ำสำคัญมีประสิทธิภาพและเห็นผลชัดเจนมากขึ้น

 

พื้นที่สีเขียว มีได้ทุกที่

       การเพิ่มพื้นที่สีเขียว รัฐบาลไม่ได้มุ่งเน้นแค่ในพื้นที่ป่าเท่านั้น หากแต่ยังสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ป่าในเมือง หรือพื้นที่สีเขียวตามชุมชนหรือเขตเมืองขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในเชิงนันทนาการ การเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ การออกกำลังกาย และยังเป็นพื้นที่ฟอกอากาศของเมืองขนาดใหญ่ได้ในเวลาเดียว ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จที่รัฐบาลพยายามผลักดันพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพ คือ “สวนป่าเบญจกิติ” โดยใช้พื้นที่เดิมของสวนเบญจกิติขนาด และพื้นที่รอบ ๆ บึงน้ำของโรงงานยาสูบให้กลายเป็นผืนป่ากลางกรุงพื้นที่กว่า 450 ไร่ ซึ่งที่มากไปกว่าการเป็นปอดฟอกลมหายใจ พื้นที่บางแห่งกลายเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ รองรับปริมาณน้ำฝนจำนวนมหาศาล หรือเป็นแหล่งบำบัดมลภาวะทางน้ำ เรียกได้ว่าให้ธรรมชาติฟื้นฟูกันเองด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาติกว่า 300 ชนิด 8,888 ต้น กลายเป็นพื้นที่สีเขียวกลางใจกลางเมืองใหญ่ ที่เพิ่มลมหายใจให้กับเมืองและยังเป็นแหล่งรองรับน้ำช่วยแบ่งเบาปัญหาน้ำท่วมน้ำขังในเขตพื้นที่กรุงเทพชั้นในได้อีกทาง ซึ่งพื้นที่สีเขียวกลางเมืองยังเกิดขึ้นอีกหลายแห่งทั่วประเทศตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่สีเขียว และการพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar