ฟังวิทยุออนไลน์

ชีวิตที่มั่นคงด้วยที่ดินทำกิน และการแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินทับซ้อน

ที่ดินทำกิน เปรียบเสมือนหัวใจของผู้ยากไร้ การมีที่ดินทำกินโดยไม่ต้องหวาดระแวงว่าจะถูกจับกุมหรือดำเนินคดี ถือเป็นความหวังของชาวบ้านที่มีพื้นที่ทำกินอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนของหน่วยงานราชการ ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาข้อพิพาทระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกที่ดินของรัฐ ปัญหาการทับซ้อนกันของแนวเขตที่ดิน ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ล้วนเกิดจากแนวเขตที่ดินของรัฐไม่ชัดเจน หรือแผนที่ของแต่ละหน่วยงานใช้มาตราส่วนแตกต่างกัน ดังนั้น การจัดการปัญหาข้อพิพาทที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชน     จะช่วยเพิ่มการลงทุนในระยะยาว ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำได้

การใช้ One Map ลดปัญหาที่ดินทับซ้อน

       การปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) และรับรองเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐ เพื่อช่วยลดปัญหาเกี่ยวกับขอบเขตที่ดินของรัฐ โดยเส้น One Map จะเกิดจากการปรับปรุงแนวเขตที่ประกาศตามกฎหมาย แนวเขตจริง และแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศตามห้วงเวลา รวมทั้งสภาพข้อเท็จจริงในพื้นที่ ซึ่งแนวเขตทั้งหมดจะต้องต่อกันสนิท ไม่ทับซ้อนหรือมีช่องว่าง โดยแนวเขตที่ดินดังกล่าว

จะช่วยแก้ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับแนวเขตของที่ดิน ซึ่งเดิมแต่ละหน่วยงานอาจมีแผนที่หรือแนวเขตของตัวเองไม่สอดคล้องกัน ทำให้เกิดข้อพิพาทในแนวที่ดินต่าง ๆ ที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องแตกต่างกัน ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินเหล่านั้น ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดิน One Map แบ่งการดำเนินการเป็น 7 กลุ่มจังหวัด กลุ่มละ 11 จังหวัดทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

การจัดสรรที่ดินทำกินให้ชุมชน ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.)

       รัฐบาลมีความมุ่งมั่นตั้งใจ ต้องการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรและผู้ที่ยากจน โดยการจัดที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกินในลักษณะแปลงรวม มุ่งให้สิทธิทำกินเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต ไม่ให้กรรมสิทธิ์เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขายเปลี่ยนมือ เป้าหมายทั้งหมดนี้เพื่อให้ประชาชนมีที่ทำกิน เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี หาเลี้ยงชีพได้

       ประเภทที่ดิน 2 กลุ่ม

       1. จัดระเบียบ : ที่ดินของรัฐที่มีราษฎรครอบครอง

       2. จัดระบบ : พื้นที่ว่างเปล่า ซึ่งไม่มีผู้ครอบครองและมีศักยภาพในการจัดที่ดิน จำแนกออกได้เป็น  7 ประเภท ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลน ป่าไม้ถาวร พื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ที่ราชพัสดุ ที่สาธารณประโยชน์ ที่นิคมสร้างตนเอง

ปัจจุบันรัฐบาลได้จัดให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว 76,453 ราย 94,555 แปลง ใน 338 พื้นที่ ครอบคลุม 67 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและบริหารจัดการที่ดินให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและความมั่นคงของประเทศตามนโยบายบริหารจัดการที่ดิน ประชาชนอยู่กินยั่งยืน นอกจากนี้ยังส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับประชาชนควบคู่ด้วย โดยดำเนินการไปแล้ว 271 พื้นที่ใน 65 จังหวัด มีประชาชน 49,062 ราย ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ และรัฐบาลยังมีการดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำและปัจจัยพื้นฐาน ส่งเสริมพัฒนาอาชีพ มีการจัดทำเมนูอาชีพเชิงบูรณาการ ส่งเสริมการรวมกลุ่ม สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนสินเชื่อ มีเงินสร้างอาชีพ และยังส่งเสริมจัดทำบัญชีครัวเรือนด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน

จากแนวคิด “ป่าอยู่ได้ คนอยู่ดี” ของรัฐบาลในการพัฒนาที่ดินเพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินอย่างมั่นคง อีกทั้งมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าที่ครอบคลุมหลายมิติ เพราะป่าเป็นทรัพยากรของสังคมที่ทุกฝ่ายต้องร่วมดูแล ปัญหาพื้นที่ป่าถูกทำลายได้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังอย่างยาวนาน นอกจากจะก่อให้เกิดปัญหาระบบนิเวศพังทลาย ผลผลิตในภาคการเกษตรจำนวนลดลง ตลอดจนการแย่งชิงประโยชน์จากป่า ทำให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาโดยได้มีการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น

พระราชบัญญัติป่าชุมชน พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ช่วยไม่ให้ชาวบ้านที่เก็บของป่ามาขายต้องถูกจับเหมือนในอดีต    และให้อำนาจชาวบ้านในชุมชนในการตัดสินใจดูแลและใช้ประโยชน์จากป่าไม้ของชุมชนตัวเอง

พระราชบัญญัติป่าไม้ อนุญาตให้ประชาชนปลูกไม้หวงห้าม 158 ชนิด ในพื้นที่ของตัวเอง โดยไม่ถือเป็น  ไม้หวงห้ามอีกต่อไป ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลยังได้เปิดให้ลงทะเบียน “ปลูกไม้มีค่า” กับกรมป่าไม้ ถ้าปลูกในที่ดินของตัวเอง มีเอกสารสิทธิถูกต้อง ก็สามารถทำไม้ ตัด แปรรูป ส่งออก หรืออื่น ๆ ได้ แต่ถ้าขึ้นอยู่ในป่า ยังถือเป็น “ไม้หวงห้าม”

ปัจจุบันประเทศไทยมีป่าชุมชนแล้ว 11,327 แห่ง และมีชุมชนที่มีส่วนร่วม 13,028 หมู่บ้าน เนื้อที่รวม 6.29 ล้านไร่ โดยรัฐบาลมีเป้าหมายจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศให้ได้ 15,000 แห่ง เนื้อที่รวมประมาณ 10 ล้านไร่

การจัดสรรที่ดินทำกินให้เข้าใช้ประโยชน์จะช่วยให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ของรัฐได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันชุมชนสามารถบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของราษฎร ที่สำคัญช่วยลดความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรที่ดินด้วย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม       


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar