ฟังวิทยุออนไลน์

สร้างคนคุณภาพ ด้วยการปฏิรูปการศึกษา

การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาไทยนั้น เป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการปรับหลักสูตรการศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยต้องมีการพัฒนาหลักสูตรอยู่เสมอเพื่อให้เนื้อหามีความทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการเมือง โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตั้งแต่ขยายกรอบการศึกษา ขั้นพื้นฐาน 15 ปีโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย สร้างโอกาสทางการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรมในสังคม     อีกทั้งได้บูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการยกระดับมาตรฐานการศึกษาพื้นฐานและมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

พัฒนาหลักสูตร สู่กระบวนการเรียนรู้ใหม่สอดคล้องกับผู้เรียนและพื้นที่

       กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ : Active Learning หนึ่งในนโยบายรูปธรรมของรัฐบาลที่เตรียมผู้เรียนให้พร้อมเข้าสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกสนานกับกิจกรรม และไม่เครียดมากจนเกินไป โดยยังคงเรียนวิชาการครบถ้วนใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้      ปี พ.ศ. 2558 มีโรงเรียนนำร่องถึง 4,100 โรงเรียน แบ่งเป็น โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน  3,831 โรงเรียน  สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีจำนวน 161 โรงเรียน และสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีจำนวน 108 โรงเรียน 

       โครงการโรงเรียนประชารัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) "สานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ" ร่วมกับภาคประชาสังคม และภาคเอกชนกว่า 25 องค์กรชั้นนำระดับประเทศ เพื่อยกระดับการจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยครูจะได้รับความรู้และประสบการณ์จากกระบวนการจัดการ ตลอดจนได้รับการพัฒนาการเรียนรู้ต่างๆ โรงเรียน เติมเต็มจากภาคเอกชน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สื่อการเรียนการสอน ระบบฐานข้อมูล และท้ายสุดผู้ปกครอง ชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและสนับสนุนการศึกษามากขึ้น

       ไม่เพียงแต่การพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมทันต่อโลก รัฐบาลยังให้ความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรสำคัญอย่าง ครูผู้สอนในการอบรมพัฒนาครูแกนนำการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (English Boot Camp)  มีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนาความรู้ สร้างทักษะ และเทคนิคการสอนจากวิทยากรชาวต่างชาติผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษนำไปเผยแพร่และขยายผลให้กับครูอื่นในสังกัด

อาชีวะ ฝีมือชน คนสร้างชาติ

       สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) บูรณาการร่วมกับภาครัฐและเอกชน อาทิกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้มีความเข้มข้นทั้งหลักสูตร กระบวนการฝึกทักษะวิชาชีพ ฝึกประสบการณ์เพื่อให้มีสมรรถนะทักษะวิชาชีพที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการที่มีแนวโน้มต้องการบุคลากรสายช่าง สาขาที่ต้องการสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ ช่างกลโรงงาน 50% สาขาช่างเชื่อม 20 % สาขาไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ 10% สาขาแมคคาทรอนิกส์ 10 % และสาขาแม่พิมพ์ 10% เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของบุคลากรสายช่างเป็นอย่างมาก ทั้งการทำงานในประเทศและเคลื่อนย้ายไปทำงานประเทศอื่น เนื่องจากแรงงานของไทยมีทักษะฝีมือที่ละเอียดสร้างสรรค์ 

การส่งเสริมโรงการดังกล่าวจะทำให้เยาวชนและผู้ปกครองมีค่านิยมว่า ความสำเร็จในการทำงานนั้นไม่ได้อยู่เพียงแค่ใบปริญญา แต่ต้องมีทักษะที่ตรงตามความต้องการตลาด เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมจึงมีการนำรุ่นพี่ สายช่างที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่งานการ มาเล่าประสบการณ์ มุ่งมั่นเดินตามความฝัน เป็นแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ การศึกษาระบบทวิภาคีนอกจากจะตอบโจทย์การมีงานทำทันทีหลังเรียนจบ ผู้เรียนมีเงิน มีงาน มีวุฒิ มีอนาคต ผู้ประกอบการเองจะได้กำลังคนที่มีคุณภาพที่เกิดจากการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มปริมาณผู้เรียนอาชีวศึกษาในระบบทวิภาคีและขยายความร่วมมือการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีไปสู่ภูมิภาคอาเซียน และพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานสากล

ตั้งแต่การดำเนินโครงการในปี พ.ศ. 2559 มีจำนวนผู้เรียนและจำนวนสถานประกอบการเข้าร่วมจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีเพิ่มมากขึ้น มีผู้เรียนจำนวน 91,444 คน มีสถานประกอบการที่เข้าร่วมจำนวน 10,527 แห่ง และในปี พ.ศ. 2565 ขยายครอบคลุมพื้นที่ชายแดนใต้ จังหวัดปัตตานี จ.ยะลา จ.นราธิวาส และ จ.สงขลา    ใน อ.จะนะ อ.เทพา อ.นาทวี และอ.สะบ้าย้อย เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้แก่นักเรียนที่ได้ผลจากเหตุการณ์    ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2564 – 2568

 ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินหน้าแผนพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2567 ได้เน้น 7 นโยบายสำคัญ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภาคการศึกษาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนและประชาชน โดยมุ่งเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาเพื่อร่วมกัน “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” (Transforming Education to Fit in the Digital Era)

1. การจัดการศึกษาเพื่อความปลอดภัย สร้างความปลอดภัยในสถานศึกษาและป้องกันภัยคุกคามในชีวิตทุกรูปแบบ อาทิ การใช้สื่อสังคมออนไลน์และไซเบอร์ และตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมตามการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศ

2. การยกระดับคุณภาพการศึกษา เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ในรูปแบบ Active Learning, STEM Education, Coding ส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อทักษะและสมรรถนะ ด้าน Soft Power

3. การสร้างโอกาส ความเสมอภาค และความเท่าเทียมทางการศึกษาทุกช่วงวัย ให้เด็กปฐมวัยที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปทุกคน เข้าสู่ระบบการศึกษา

4. การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษา และหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น การ Re-skill Up-skill และ New skill เพื่อให้ทุกกลุ่มเป้าหมายมีการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น

5. การส่งเสริมสนับสนุนวิชาชีพครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคลากร สนับสนุนการดำเนินการ พัฒนาสมรรถนะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และระดับอาชีวศึกษา

6. การพัฒนาระบบราชการและการบริการภาครัฐยุคดิจิทัล พัฒนาระบบราชการ ด้วยนวัตกรรม และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นกลไกหลักในการดำเนินงาน (Digitalize Process)

7. การขับเคลื่อนกฎหมายการศึกษาและแผนการศึกษาแห่งชาติ ดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรอง เพื่อรองรับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติควบคู่กับการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึง

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar