ฟังวิทยุออนไลน์

ฟื้นความสัมพันธ์ ไทย – ซาอุฯ โอกาสด้านการท่องเที่ยว การส่งออก และแรงงาน

ฟื้นความสัมพันธ์ ไทย – ซาอุฯ โอกาสด้านการท่องเที่ยว การส่งออก และแรงงาน 

ความสำเร็จในความพยายามของรัฐบาลไทยที่เห็นเป็นประจักษ์ จากการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุดิอาระเบีย โดยรัฐบาลไทยได้พยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับซาอุฯ มาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ทศวรรษ กระทั่งการเดินทางเยือนตามคำเชิญของฝ่ายซาอุฯ  ได้เกิดขึ้นในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้เดินทางเยือนซาอุฯ อย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียระหว่างวันที่ 25 - 26 มกราคม 2565

       การเดินทางเยือนครั้งนี้เป็นที่จับตามองทั้งในไทยและเวทีโลกเนื่องจากจะเป็นการฟื้นคืนความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและไทยมีรอยร้าวมาตลอดกว่า 32 ปี แน่นอนว่าไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์ที่จะทำให้ไทยสามารถสร้างดุลอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ แต่ยังถูกกระจายต่อไปยังโอกาสทางการค้า เศรษฐกิจ โดยเฉพาะตลาดแรงงาน และภาคการท่องเที่ยวที่จะเป็นส่วนสำคัญให้มูลค่าทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศเพิ่มมากขึ้น นี่จึงนับเป็นความสำเร็จของรัฐบาลไทยที่สามารถยกระดับความสัมพันธ์ให้ฟื้นคืนและยังเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสองประเทศอย่างยิ่ง

       โดยเบื้องต้น ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะยกระดับผู้แทนทางการทูตของทั้งสองประเทศ จาก "อุปทูต" ให้กลับมาเป็นระดับ "เอกอัครราชทูต" ดังเดิม รวมทั้งจะพิจารณาจัดตั้งกลไกความร่วมมือทวิภาคี เพื่อผลักดันกรอบนโยบายและแผนความร่วมมือต่างๆ ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้เจริญงอกงามสืบต่อไป และในโอกาสการพบหารือครั้งนี้ ได้กราบบังคมทูลเชิญมกุฎราชกุมารฯ แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ให้เสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการอีกด้วย

โอกาสและประโยชน์ 9 ด้าน ที่ทั้ง 2 ประเทศจะได้รับ

1.   การท่องเที่ยว : เป็นโอกาสสำหรับการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การขยายความร่วมมือในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เบื้องต้นคาดว่าจะสร้างรายได้ให้ไทยไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี

2.   พลังงาน : เกิดการร่วมวิจัยและลงทุน ทั้งในรูปแบบพลังงานดั้งเดิม พลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ชาติของทั้งสองประเทศ

3.   แรงงาน : ไทยมีแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือที่มีศักยภาพจำนวนมาก ที่จะช่วยสนับสนุน โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรูปแบบต่าง ๆ ใน "วิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030" (Saudi Vision 2030)

4.   อาหาร : ประเทศไทยนั้นถือเป็น "ครัวโลก" อุดมสมบูรณ์ด้วยผลิตผลทางการเกษตร ประมง รวมถึงอาหาร "ฮาลาล" ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตและพร้อมส่งออกให้แก่ซาอุดีอาระเบีย รวมถึงผ่านซาอุดีอาระเบียไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค นำมาซึ่งโอกาสอย่างมหาศาลสำหรับผู้ประกอบการด้านอาหารของไทย

5.   สุขภาพ : ไทย คือ "ศูนย์กลางทางการแพทย์" ที่ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจากภูมิภาคตะวันออกกลางที่เป็น "นักท่องเที่ยวระดับพรีเมี่ยม" นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย จึงเป็นโอกาสที่จะเกิดการขยายตัวทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและความร่วมมือทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น

6.   ความมั่นคง : ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศอิสลามสายกลาง มีอิทธิพลสูงในกรอบองค์กรความร่วมมืออิสลาม (OIC) สามารถมีบทบาทส่งเสริมการแก้ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืนตามแนวทางสันติสุข นอกจากนั้น ยังสามารถมีความร่วมมือกันด้านข้อมูลข่าวสารความมั่นคง และการต่อต้านการก่อการร้ายอีกด้วย

7.   การศึกษาและศาสนา : ที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบียให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนไทยมุสลิมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการศึกษาด้านศาสนา นอกจากนั้น ซาอุดีอาระเบีย ยังมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม พลังงาน สุขภาพ การวิจัยทางทะเล การก่อสร้าง เทคโนโลยีป้องกันประเทศ ซึ่งจะทำให้ไทยมีโอกาสขยายการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาระหว่างกันอีกมาก

8.   การค้าและการลงทุน : การกลับมาสู่ความสัมพันธ์ในระดับปกติ จะสร้างโอกาสและเปิดประตูทางการค้าให้กับนักลงทุนและ SME ไทย ในการแสวงหาลู่ทางการทำธุรกิจและการแสวงหาหุ้นส่วนทางการค้าทั้งในซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียก็ส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศผ่าน "กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ" ในด้านพลังงาน นวัตกรรม โทรคมนาคม อวกาศ เทคโนโลยีสีเขียว โครงสร้างพื้นฐาน ฯลฯ ซึ่งไทยนั้น มีความพร้อมในด้านทรัพยากรมนุษย์ องค์ความรู้ สถานศึกษา และเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ

9.   กีฬา : จะเป็นโอกาสอันดีในการสร้างความร่วมมือทางการกีฬาของทั้งสองประเทศ ที่มีความสนใจในการแข่งขันและการกีฬาต่างๆ ร่วมกัน เช่นฟุตบอล มวย กอล์ฟ การแข่งรถ รวมถึง e-sport และอื่นๆ และเป็นโอกาสของไทยในการส่งเสริม "มวยไทย" ให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลางด้วย

เที่ยวบินปฐมฤกษ์ สายการบิน "ซาอุเดียแอร์ไลน์"

       เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565  เปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของสายการบินซาอุเดีย แอร์ไลน์เที่ยวบิน SV846 บินตรงจากเมืองเจดดา - กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรุงเทพมหานคร กระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวซาอุฯกับไทยอย่างเป็นทางการในรอบ 32 ปี เที่ยวบินดังกล่าว ได้นำคณะนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ เดินทางเข้าราชอาณาจักรไทย จำนวน 71 คน เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ถือเป็นนิมิตหมายอันดีในการเชิญชวนและส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวชาวซาอุดีอาระเบียเดินทางมาท่องเที่ยว

       คาดว่าเที่ยวบินตรงนี้จะเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับความสำเร็จในการส่งเสริมการเดินทางมายังประเทศไทย ช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ได้อย่างสะดวก ลดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ตลอดจนเป็นโอกาสต่อยอดในการขยายตลาดนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ เช่น ยุโรปและตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตามในปี 2566 ตั้งเป้ารับนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ 5 แสนคนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวทางนายกฯ และภาพรวมนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลางในปี 2566 ตั้งเป้าไว้ 1 ล้านคน

แรงงานไทย – ซาอุดีฯ เพิ่มโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ

       กระทรวงแรงงานได้ขานรับนโยบายจากนายกรัฐมนตรี ผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างสองประเทศมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำความตกลงด้านแรงงานระหว่างสองประเทศ การเตรียมความพร้อมในการพัฒนากำลังแรงงานให้ตรงกับความต้องการของนายจ้างและสถานประกอบการของซาอุดีฯ และการดำเนินการรับสมัครคนงานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงานในซาอุฯ นำไปสู่การบรรลุข้อตกลงด้านแรงงาน ซึ่งในวันนี้ตนและคณะจึงได้เดินทางมาลงนามในความตกลงดังกล่าว จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับแรก คือความตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และฉบับที่สองเป็นความตกลงว่าด้วยการจัดหาแรงงานในบ้านระหว่างกระทรวงแรงงานแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย การลงนามความร่วมมือในการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุฯ ครั้งนี้ เน้นแรงงานที่มีความรู้ ความสามารถ มีทักษะที่มีค่าตอบแทนสูง ต้องมีค่าจ้างมากกว่า 25,000 บาทขึ้นไป และต้องหาตำแหน่งงานที่จูงใจให้คนไทยอยากไปทำงานที่ซาอุดิอาระเบียมากขึ้น

       ตำแหน่งงานที่ประเทศซาอุฯ ต้องการแรงงานไทยจำนวนมาก อาทิ ช่างเชื่อมใต้น้ำ วิศวกรที่มีความสามารถรอบด้าน ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างต่างๆ งานครัว งานบ้าน งานสวน ผู้จัดการพยาบาล พยาบาล ผู้ดูแลผู้ป่วยหรือคนชรา พนักงานทำความสะอาด ผู้ช่วยสัตว์แพทย์ พนักงานตัดขนสัตว์เลี้ยง รวมถึงพนักงานขับรถและควบคุมดูแล โดยตำแหน่งงานทั้งหมดที่กล่าวมานี้มีความต้องการตั้งแต่ระดับปริญญาเอกจนถึงไม่จำกัดวุฒิการศึกษา

       คาดว่าปี 2566 นี้ จะทำให้สามารถส่งแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศหลัก ๆ อย่างไต้หวัน ญี่ปุ่น อิสราเอล เกาหลี และโซนตะวันออกกลาง เช่น ซาอุฯ กาตาร์ บาห์เรน เชื่อว่าตัวเลขแรงงานจะเริ่มมากขึ้น ส่วนขั้นตอนไปทำงานซาอุฯ รวมถึงประเทศอื่นๆ ลงทะเบียนได้ที่ ศูนย์ทะเบียนคนหางานไปทำงานต่างประเทศ เว็บไซต์กรมการจัดหางาน toea.doe.go.th หรือติดต่อสำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือโทรสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

ขั้นตอนไปทำงาน ซาอุดีอาระเบีย

·   ลงทะเบียนศูนย์ทะเบียนคนหางานไปทำงานต่างประเทศ toea.doe.go.th

·   สำนักงานจัดหางานทุกแห่งทั่วประเทศ หรือ โทร. สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

ช่องทางลงทะเบียนสมัครงาน ซาอุดีอาระเบีย

·   สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10

·   สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ

·   ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ toea.doe.go.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไปทำงาน-ต่างประเทศ ของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน

·   สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694

ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน ซาอุดีอาระเบีย

·   กรณีจัดส่งโดยรัฐ ประมาณ 32,800 บาท ประกอบด้วย

o   ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินไปซาอุดีฯ ประมาณ 20,000 บาท

o   ค่าธรรมเนียมการยื่นขอวีซ่าแบบเข้าออกครั้งเดียว 6,000 บาท

o   ค่าหนังสือเดินทาง 1,500 บาท

o   ค่าตรวจสุขภาพ 2,300 บาท

o   ค่าตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประมาณ 1,000 บาท

o   ค่าประกันสุขภาพโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประมาณ 1,000 บาท

o   ค่าทดสอบฝีมือแรงงาน 500 บาท

o   ค่าตรวจสอบประวัติอาชญากรรม 100 บาท

o   ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ 400 บาท

ฮาลาลโลก ไทย - ซาอุฯ

       ปัจจุบันกล่าวได้ว่าประเทศไทยเป็น ครัวฮาลาลโลก ก็ว่าได้เพราะมีฐานการผลิตอาหารฮาลาลในประเทศจำนวนไม่น้อย ที่ผลิตทั้งเพื่อขายให้กับชาวมุสลิมในประเทศ และส่งออกไปขายในต่างประเทศ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะไทยมีจุดแข็งด้านการเกษตรซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหาร ทำให้มีวัตถุดิบคุณภาพดีที่หลากหลายและปริมาณที่เพียงพอป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตตลอดทั้งปี อีกทั้งอุตสาหกรรมอาหารของไทยมีความเข้มแข็ง ผู้ผลิตมีความชำนาญและเชี่ยวชาญด้านการผลิตและแปรรูปอาหาร มีชื่อเสียงที่ดีในตลาดโลก

       ขณะที่องค์การอาหารและยาซาอุดีอาระเบีย (SFDA) หรือ อย.ซาอุดีอาระเบีย ได้แก้ไขข้อมูลบนเว็บไซต์ อนุญาตให้โรงงานไก่ไทย 11 โรงงาน สามารถส่งออกไก่สด ไก่แปรรูป ไก่ปรุงสุก เข้าประเทศซาอุฯ ได้อย่างครบถ้วน ทุกด่านทั่วประเทศ  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2565 ถือเป็นข่าวดีด้านการส่งออกปศุสัตว์ไทย โดยเฉพาะในการเสริมสร้างบทบาทของไทยในฐานะครัวโลก เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากซาอุฯ ถือเป็นประเทศผู้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์แปรรูปรายใหญ่ของโลก ปัจจุบัน มีการนำเข้าไก่ปีละ 5.9 แสนตัน ถือเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจสามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ

แขกพิเศษ APCE 'มกุฎราชกุมารซาอุดิอาระเบีย' สะท้อนความสัมพันธ์ไทย - ซาอุฯ

       ตอกย้ำความสำเร็จในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ไทย - ซาอุฯ อีกครั้ง เมื่อเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย และคณะเดินทางถึงไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 ในฐานะแขกของประธาน เพื่อทำความรู้จักและพบปะหารือกับภาครัฐและภาคเอกชนไทย และกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย รวมถึงแสวงหาความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรม

       ภายหลังการหารือข้อราชการนายกรัฐมนตรี และมกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่

1.   ข้อตกลงความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย

2.   บันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดีฯ-ไทย

3.   บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ระหว่างกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงท่องเที่ยวแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

4.   บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย

5.   บันทึกความเข้าใจระหว่างองค์กรกำกับดูแลและต่อต้านการทุจริต ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ราชอาณาจักรไทย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

 

 

          

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar