ฟังวิทยุออนไลน์

ประเทศไทย...ศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอาเซียน

 

อุตสาหกรรมรถยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีส่วนสำคัญทั้งในด้านการลงทุน การสร้างมูลค่าเพิ่ม การจ้างงาน และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยและคนไทยเป็นจำนวนมากตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันทิศทางและแนวโน้มของอุตสาหกรรมรถยนต์กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปสู่รถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เพราะรถEV เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างช่วยลดการเกิดฝุ่นpm 2.5 ช่วยลดการใช้พลังงานน้ำมัน และประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่รถยนต์ได้มากกว่าหากเทียบกับการใช้รถน้ำมัน

มาตรการรัฐบาล สนับสนุนใช้-ผลิต รถEV ปี 2565 – 2568 

สำหรับมาตรการจากรัฐบาลที่สนับสนุนเงินให้ผู้ประกอบรถEV ทั้งนำเข้าจากต่างประเทศและผลิตในประเทศ นำไปเป็นส่วนลดให้ประชาชนที่สนใจซื้อรถEV ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์ 18,000 - 150,000 บาท/คัน เป็นส่วนหนึ่งของหลายมาตรการที่รัฐบาลสนับสนุนให้มีการใช้และผลิตรถEV ในประเทศให้มากขึ้น                             โดยเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ด EV กระทรวงพลังงานเสนอ 

1. เงินอุดหนุนรถยนต์ และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาท/คัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาท/คัน

2. ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8 % เป็น 2 % และรถกระบะเป็น 0 %

3. ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ และนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40 % สำหรับรถยนต์ ถึงปี 2566

4. ยกเว้นอากรขาเข้าส่วนประกอบรถยนต์EV จำนวน 9 รายการ เพื่อนำมาผลิตหรือประกอบรถEV ในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการหรือค่ายรถที่เข้าร่วมต้องรับเงื่อนไข ได้แก่ ผลิตรถ EV ในประเทศชดเชยให้เท่ากับจำนวนที่นำเข้าช่วงปี 2565 - 2566 ภายในปี 2567 แต่ขยายเวลาได้ถึงปี 2568 โดยจะต้องผลิตในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 คือ นำเข้า 1 คัน จะต้องผลิตในประเทศ 1 คัน โดยผู้ใช้สิทธิ์จะผลิต BEV หรือรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ รุ่นใดก็ได้เพื่อชดเชย ยกเว้นรถที่มีราคาขายปลีก 2-7 ล้านบาท ต้องผลิตรุ่นเดียวกับที่นำเข้ามาเป็นต้น 

สำหรับค่ายรถที่ลงทุนผลิตรถEV ในไทย ขณะนี้มีอยู่ 5 ค่าย คือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปตั้งแต่ปี2563 ส่วนในปีนี้ 2565 มีเพิ่มมาอีก 3 ค่าย ซึ่งร่วมมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล คือ บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัทเอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และเมื่อ 17 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้อนุมัติการลงทุนบริษัท BYD จากประเทศจีน ที่จะลงทุนในพื้นที่EEC ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ BEV และ PHEV (รถที่ใช้ทั้งพลังงานไฟฟ้าผสมน้ำมันเบบเสียบปลั๊ก) มูลค่าการลงทุน 17,891 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2567

นโยบาย 30@30 หนุนรถยนต์ไฟฟ้า มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ด EV ได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ตามนโยบาย 30@30 คือการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ.2573 นโยบาย30@30 นี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต ที่ขณะนี้หลาย ๆ ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และในทวีปยุโรป ได้กำหนดเป้าหมายนี้ไว้ บอร์ดEV ของบ้านเราจึงกำหนดแนวทางและมาตรการตามนโยบาย 30@30 ออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) : ปี 2564 – 2565

นำร่องส่งเสริมการใช้รถEV ซึ่งมาตรการของภาครัฐที่ออกมา ทั้งอุดหนุนส่วนลดซื้อรถEV 18,000 -150,000บาท/คัน และการลดภาษีนำเข้ารถและส่วนประกอบต่างๆ อยู่ในระยะนี้

ระยะที่ 2 : ปี 2566 – 2568

พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายการผลิตรถ EV ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 225,000 คัน รถจักรยานยนต์ 360,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 18,000 คัน ภายในปี 2568 รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อตอบสนองการผลิตในประเทศ ซึ่งมาตรการที่ออกมาแล้วโดยรัฐบาล ทั้งลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถ EV และกำหนดอัตราการนำเข้ารถทั้งคันต่อการผลิตในประเทศ 1.5 คัน ของผู้ประกอบการ ก็อยู่ในระยะนี้

ระยะที่ 3 : ปี 2569 – 2573

ขับเคลื่อนแผนและมาตรการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมเพื่อให้บรรลุตามนโยบาย 30/30 ซึ่งมีเป้าหมายการผลิตรถ EV ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะทั้งสิ้น 725,000 คัน ประเภทรถจักรยานยนต์ 675,000 คัน คิดเป็น 30% ของการผลิตภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573

ขณะที่ครม.อนุมัติงบ 2,923.397 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามประกาศกรมสรรพสามิต โดยนำไปเป็นส่วนลดให้แก่ประชาชนที่สนใจซื้อรถEV คันละ 18,000 - 150,000 บาท ดังนี้

1. กรณีรถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงแต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง ได้รับเงินอุดหนุนส่วนลด คันละ 70,000 บาท ส่วนรถที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ได้รับเงินอุดหนุนส่วนลดคันละ 150,000 บาท

2. กรณีรถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป ได้รับเงินอุดหนุนส่วนลดคันละ 150,000 บาท

3. กรณีรถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท เงินอุดหนุนส่วนลดคันละ 18,000 บาท

ประโยชน์ที่คนไทยได้รับจากมาตรการหนุนใช้รถ EV

ประโยชน์จากการใช้รถ EV และผลดีจากมาตรการส่งเสริมการใช้-การผลิต จากภาครัฐแล้ว เรียกได้ว่าได้ประโยชน์แก่คนทั่วไป ไม่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเอื้อธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง ซึ่งพอจะจำแนกออกเป็นข้อๆได้ ดังนี้

1.ประชาชนที่พอมีกำลังซื้อ จะได้ใช้รถ EV ในราคาที่ถูกลงทั้งในขณะนี้และถูกลงอีกในอนาคต

2.ช่วยลดค่าเดินทาง เพราะรถ EV มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ถูกกว่ารถที่ใช้น้ำมัน หากเทียบการใช้รถในระยะทางเท่ากัน

3. ลดการใช้น้ำมันที่นับวันจะแพงขึ้นและมีน้อยลง ข้อนี้เป็นผลดีต่อประชาชนโดยรวมทุกภาคส่วน เพราะหากใช้รถ EV พลังงานไฟฟ้ามาบรรทุกขนส่งสินค้าแทนรถน้ำมันได้มากขึ้นแล้ว ต้นทุนด้านการขนส่งสินค้าก็จะลดลง ส่งผลให้ประชาชนและผู้บริโภคทั่วไปได้ใช้สินค้าในราคาที่ถูกลงตามไปด้วย

4. รถEV เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนช่วยลดมลภาวะทางอากาศ จะช่วยทำให้คนไทยทุกคนได้อยู่ในสังคมที่มีสภาวะแวดล้อมดีขึ้น สะอาดขึ้น

5. เมื่อมีการตั้งฐานผลิตรถ EV ในไทยมากขึ้น ก็จะเกิดการจ้างงานคนไทยมากขึ้นด้วย ส่วนผู้ประกอบการหรือค่ายรถยนต์ ก็จะได้ผลิตรถ EV หรือดำเนินธุรกิจของตนเองภายใต้กฎกติกาและมาตรการที่อำนวยความสะดวกและเป็นธรรม ขณะที่ภาครัฐก็จะเก็บภาษีจากผู้ประกอบการได้มากขึ้นด้วย

สถานีชาร์จ ปัจจัยสำคัญตัดสินใจใช้รถ EV

แม้ขณะนี้ชาวไทยให้ความสนใจใช้รถEV มากขึ้น ทั้งจากสาเหตุการกระตุ้นการใช้จากภาครัฐ หรือเล็งเห็นผลประโยชน์ด้วยตนเองก็ตาม แต่อีกปัจจัยสำคัญหนึ่งที่หลายต่อหลายคนใช้ตัดสินใจว่าจะหันมาใช้รถ EV หรือไม่ คือ สถานที่และสถานีชาร์จไฟฟ้าที่เพียงพอ เพราะแม้รถ EV สามารถชาร์จไฟฟ้าที่บ้านได้ตามอุปกรณ์การชาร์จที่มีมากับรถ แต่พวกที่อาศัยในที่อยู่แนวดิ่ง เช่นคอนโดฯ แฟลต อพาร์ทเมนต์ ส่วนใหญ่ไม่มีการติดตั้งแท่นชาร์จในพื้นที่จอดรถ หรือไม่สะดวกต่อการลากสายชาร์จไปเชื่อมต่อระหว่างเต้าปลั๊กไฟฟ้ากับรถยนต์ ขณะที่สถานที่ทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนยังมีการติดตั้งแท่นชาร์จน้อยแห่ง หากแก้ปัญหาในส่วนที่อยู่อาศัยแนวดิ่งและสถานที่ทำงานได้ ก็น่าจะเป็นสิ่งจูงใจให้คนหันมาใช้รถ EV มากขึ้น ด้านพื้นที่สาธารณะและพื้นที่เอกชนทั่วไป นอกเหนือจากส่วนที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงาน ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ก็ยังมีสถานีชาร์จไฟฟ้าไม่มาก ดังนั้นทางหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจึงเร่งติดตั้งสถานีชาร์จ

  • การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ร่วมมือภาคเอกชน ติดตั้งสถานีชาร์จตามปั้มน้ำมันและพื้นที่เอกชนทั่วไปให้ได้อย่างน้อย 140 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ จากเดิมมีอยู่แล้ว 45 แห่ง

  • การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. ติดตั้งหัวจ่ายชาร์จไฟในพื้นที่ส่วนราชการและเอกชน ในกรุงเทพฯ ไปแล้ว 22 หัวจ่าย ภายในปีนี้จะติดตั้งให้ครบ 100 หัวจ่าย

  • บริษัทบางจากฯ ร่วมมือค่ายรถ เร่งติดตั้งสถานีชาร์จให้ได้ 500 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ จากเดิมมีอยู่แล้ว 45 แห่ง

  • กลุ่ม ปตท.เร่งขยายสถานีชาร์จให้ได้ 1,000 แห่งทั่วประเทศภายในปีนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ของโรงแรม ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน

  • ค่ายรถ EV ก็เร่งติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็ว และแบบปกติ รองรับรถEV ที่ทยอยออกสู่ท้องถนนอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันสถานีให้บริการอัดประจุไฟฟ้า(ชาร์จไฟ) สำหรับรถ EV ทั้งของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ปัจจุบันมี 1,447 แห่งทั่วประเทศ โดยแต่ละแห่งส่วนใหญ่มีหัวจ่ายไฟไม่เกิน 3 หัวจ่ายและกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองเป็นหลัก ทางรัฐบาลจึงตั้งเป้าให้มีหัวจ่ายไม่น้อยกว่า 12,000 หัวจ่าย ครอบคลุมทุกพื้นที่ของปะเทศภายในปี 2573


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar