ฟังวิทยุออนไลน์

APEC2022 : โชว์ศักยภาพไทยสู่สายตาชาวโลก

APEC2022 : โชว์ศักยภาพไทยสู่สายตาชาวโลก

Bangkok Goals ความสำเร็จไทยในการประชุม APEC 2022

การจัดประชุม APEC 2022 ครั้งที่ 29 ได้ปิดฉากลงแล้วด้วยความสำเร็จอย่างงดงาม จากความมือกันของสมาชิก APEC ทั้งหมดที่มุ่งหวังสร้างการเจริญเติบโตและอนาคตของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก แม้จะมีความท้าทายระหว่างสถานการณ์ระหว่างประเทศ แต่ไทยก็สามารถต้อนรับคณะผู้นำ ผู้เข้าร่วมประชุม และสื่อต่างชาติ รวมกว่า 5,000 คน เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ได้ประชุมแบบพบหน้า การประชุมนี้นอกจากจะเป็นเวทีให้การหารือระหว่างผู้นำ ยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับแขกพิเศษ อย่าง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และมกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย เป็นการฟื้นฟูและกระชับความสัมพันธ์ ไทยและซาอุดีอาระเบียในรอบ 32 ปี 

สำหรับส่วนสำคัญของไทย คือ “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” หรือ Bangkok Goals on BCG Economy ส่วนนึงของแนวคิดหลักของการจัดประชุมเป็นการ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” ที่ส่งเสริมความร่วมมือนำไปสู่การเติบโต สร้างผลกำไรควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนซึ่งรวมถึงธุรกิจทุกขนาด ตลอดจนประชาชนทุกคน

การพัฒนาต่อยอดผลสำเร็จของการประชุม APEC 2022

ตลอดระยะเวลาการประชุม ไทยสามารถขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ และผลักดันกรอบแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ให้ 20 เขตเศรษฐกิจยอมรับนําไปขับเคลื่อนต่อไป รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือ APEC ให้เป็นเขตการค้าเสรี APEC หรือ FTAAP ที่มีข้อตกลงชัดเจนในการอํานวยความสะดวกการค้าการลงทุน และปลอดภาษี เพื่อให้สมาชิก APEC สามารถนําเข้าส่ง – ส่งออกในเขตเศรษฐกิจได้สะดวกมากขึ้น และ APEC Business Travel Card (ABTC) บัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค หนึ่งในสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการไทยได้รับ เป็นเสมือนวีซ่าที่ใช้คู่กับหนังสือเดินทาง ให้นักธุรกิจไทยเดินทางไปติดต่อธุรกิจระยะสั้นยังดินแดนของสมาชิกเอเปคได้ โดยไม่ต้องขอวีซ่า 

ไทยได้สร้างความมั่นใจและดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่เกี่ยวข้องกับ BCG ควบคู่ไปกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจ EEC เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศ เชื่อมั่นในศักยภาพของ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม BCG พลังงาน ยานยนต์ไฟฟ้า เศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมบริการ เช่น การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสุขภาพ โดยมีมติ ครม.ต่ออายุโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากด้วยเศรษฐกิจ BCG อีก 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 - 31 มีนาคม 2566      เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่

สำหรับการประชุม APEC CEO SUMMIT 2022 ของภาคเอกชน มีการคาดการณ์ว่าไทยจะได้รับประโยชน์ในระยะยาว (ภายใน 3- 5 ปี) เช่น การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ มีการลงทุนซึ่งกันและกันในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมสีเขียว และการลงทุนเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะทางราง คาดว่าจะสร้างเม็ดเงินการค้าและการลงทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 แสนล้านบาท

อีกทั้งผลพวงจากการประชุมเอเปค 2022 เกาหลีใต้ได้เพิ่มโควตาจัดส่งแรงงานไทยไปเกาหลีใต้เพิ่มใน 3 กลุ่มแรงงาน เป็น 15,000 คน ทำให้คนไทยมีโอกาสยกระดับทักษะฝีมือ มีรายได้นำกลับมาพัฒนาประเทศ ซึ่งตลาดแรงงานต่างชาติในสาธารณรัฐเกาหลี นับว่าเป็นตลาดแรงงานที่มีศักยภาพและน่าสนใจ เนื่องจากแรงงานต่างชาติได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเทียบเท่าคนในชาติ รวมทั้งอัตราค่าจ้างแรงงานค่อนข้างสูง ทำให้มีแรงงานไทยจำนวนมากเดินทางไปทำงาน จากข้อมูลในเดือนกรกฎาคม ปี 2565 มีจำนวนแรงงานไทยสะสมอยู่ในเกาหลีเป็นจำนวนถึง 12,950 คน

โอกาสคนไทย ส่งสินค้าไทย สู่สากลโลก

นอกจากผลประโยชน์ทางตรงด้านการค้าการลงทุนที่ไทยได้โอกาสเพิ่มขึ้นแล้ว ในด้านทางอ้อมไทยยังได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล โดยเฉพาะ Soft Power ที่ผู้นําหลายเขตเศรษฐกิจหรือแม้แต่ผู้แทน และคณะทํางาน ได้เผยแพร่อัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ตั้งแต่อาหารการกิน วัฒนธรรม ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ สะท้อนจากรูปแบบการจัดงานที่แสดงความเป็นไทย ทําให้ทั่วโลกที่สนใจการนำเสนอเอกลักษณ์ความเป็นไทยผ่านสินค้าวัฒนธรรมมากขึ้น

ตั้งแต่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งมอบชะลอมไม้ไผ่อันเป็นสัญลักษณ์ไม้ต่อ ให้แก่ นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยชะลอมสานไม้ไผ่นี้ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงภูมิปัญญาไทย ใช้ในการขนส่งสินค้า บรรจุของใช้ยามเดินทาง และใส่ของขวัญสำหรับมอบให้แก่ญาติมิตร จึงทำให้ชะลอมสะท้อนการ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” และรูปแบบการทำงานของเอเปคได้เป็นอย่างดี ทั้งการผสานความเข้มแข็งที่หลากหลายและความพยายามของเขตเศรษฐกิจสมาชิกเข้าด้วยกันไว้

       อีกทั้ง ของขวัญและของที่ระลึก ทั้ง 7 รายการ ล้วนนำเสนออัตลักษณ์ไทย ที่บอกเล่าเรื่องราวและคุณค่า ส่งเสริมแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอันสอดคล้องกับแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคในครั้งนี้ อาทิ

1.      ภาพดุนโลหะ“รัชตะแสนตอก” (สำหรับผู้นำ)  มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติที่สืบทอดมากว่า 700 ปีบนแผ่นโลหะรีไซเคิล พื้นหลังแสดงลายนูนต่ำ ลวดลาย ‘ชะลอม’ ที่พัฒนาขึ้นจากตราสัญลักษณ์การประชุม ส่วนกรอบรูปดุนลายขึ้นเป็น ลายพื้นเมืองล้านนา ซึ่งทั้งภาพและกรอบนี้ใช้วัสดุ โลหะรีไซเคิลสีเงิน (รัชตะ) โดยผ่านการดุนหรือตอกนับแสนครั้ง จึงเป็นที่มาของชื่อภาพ ‘รัชตะแสนตอก’ผลิตจากชุมชนคุณธรรมฯ วัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) จังหวัดเชียงใหม่ 

2.      กล่องเครื่องประดับดุนโลหะ “รัชตะหมื่นตอก” (สำหรับคู่สมรส) การดุนลายด้วยการตอกนับหมื่นครั้งต่อหนึ่งชิ้นงาน ด้านในของกล่องบุด้วยผ้าไหมสีแดงชาด ผลิตจากชุมชนคุณธรรมวัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) จังหวัดเชียงใหม่ เช่นกัน

3.      ชุดผลิตภัณฑ์ผ้า “จตุราภรณ์” ผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติด้วยสีจากเปลือกมะพร้าว อันเป็น ภูมิปัญญาท้องถิ่น จาก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา พิมพ์ลาย “ชะลอม” ร้อยเรียงขึ้นเป็นลายไทยประจำยามจตุราภรณ์ หรือ "อาภรณ์ทั้งสี่ชิ้น" เชื่อมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย

โดยของที่ระลึกทั้ง 3 รายการ นอกจากตัวผลิตภัณฑ์จะมีที่มาจากแนวคิด BCG แล้ว ตัวบรรจุภัณฑ์ได้ผ่านการออกแบบให้สอดคล้องกัน โดยผลิตจากไม้ยางพาราอบฆ่าเชื้อตามมาตรฐานการส่งออก ประดับโลหะสีเงินฉลุลายตราสัญลักษณ์ APEC 2022 ที่มีความละเอียดอ่อนสวยงาม

ไม่เพียงแต่ของที่ระลึกที่สร้างความประทับใจแก่ผู้รับ อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญคือ การนำเสนอวัฒนธรรมไทยผ่าน อาหาร โดยรังสรรค์วัตถุดิบที่โดดเด่นมีคุณภาพจากทุกภูมิภาคของไทยประเทศไทย เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุม โดยนำรสชาติของแต่ละภาคมาให้ได้ลิ้มรสมากมาย อาทิ

1.  คุกกี้พายสับปะรด จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพจากโครงการพลังชุมชนของ SCG  ที่เปลี่ยนขนมคุกกี้ไส้สับปะรดธรรมดา ๆ สร้างเอกลักษณ์ของตัวเองกลายเป็นของฝากที่ต้องติดมือ มาเป็นขนมรับรองบนโต๊ะประชุมระดับชาติ ที่มีรูปร่างเป็นรูปสับปะรด ชิ้นพอดีคำให้ลิ้มลอง

2.  ปลากุเลาตากใบ จังหวัดนราธิวาส สินค้าท้องถิ่นขึ้นชื่อและได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา คนทั่วไปขนานนามว่า “ราชาแห่งปลาเค็ม” เนื่องจากมีรสสัมผัสกลมกล่อม เนื้อฟู มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ มีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 1,300 - 1,500 บาท

 

กล่าวได้ว่า ความสำเร็จหลังการประชุม APEC 2022 ได้จบลง ไทยในฐานะเจ้าภาพครั้งที่ 2 ได้โอกาสแสดงบทบาทนำในเวทีระหว่างประเทศ ให้เห็นจุดเด่นของทิศทางการพัฒนาประเทศของไทย รวมทั้งการแสดง Soft Power ในมิติต่าง ๆ ที่ได้นำมาโชว์ให้ผู้นำของนานาประเทศได้ชิม ถือเป็นการเปิดประตูเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสประเทศไทย สามารถสร้างภาพลักษณ์และเม็ดเงินเข้ามาแก่ประเทศไทยได้มากขึ้น

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar