ฟังวิทยุออนไลน์

การแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย โอกาสสินค้าประมงไทยและการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน

ด้วยทำเลที่ตั้งของประเทศไทยที่มีชายฝั่งทะเลขนาบทั้งสองด้าน นอกจากจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสทางเศรษฐกิจจากภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาโดยตลอด แต่บทเรียนจากช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา น่าจะทำให้เราได้ตระหนักแล้วว่า การพึ่งพาเครื่องจักรในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวใดตัวหนึ่งมากจนเกินไป ทำให้เศรษฐกิจมีความเปราะบาง เมื่อเผชิญวิกฤติที่กระทบกับการเดินทางก็อาจทำให้เศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการ แรงงาน และภาคการเกษตรซึ่งเป็นต้นทางของทรัพยากรทุกอย่างได้รับผลกระทบเป็นห่วงโซ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามที่จะวางรากฐาน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากทำเลที่ตั้งที่มีน่านน้ำทางทะเลที่ยาวทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน ทำให้ไทยมีทรัพยากรสัตว์น้ำในน่านน้ำของตนเองและเอื้อต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดังนั้นหนึ่งในเครื่องจักรเศรษฐกิจสำคัญที่เป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับคนไทยคงหนีไม่พ้นสินค้าในภาคการประมง ซึ่งไทยเราถือเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลแปรรูปรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก ทำรายได้เกือบ 2 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเม็ดเงินเหล่านี้กระจายไปสู่ทุกภาคส่วน ตั้งแต่โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ผู้ส่งออก แรงงานที่ทำงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ไปจนถึงแรงงานในภาคการประมง ซึ่งเป็นต้นทางของวัตถุดิบนั่นเอง

 

ตัวเลขเกือบ 2 แสนล้านบาทที่ได้มาในวันนี้คงไม่เกิดขึ้นถ้าการแก้ปัญหาการทำประมงของไทยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

ปัญหาที่สั่งสมในภาคประมงมาช้านาน ทั้งการใช้แรงงานที่ถูกจับตาว่ามีความสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายการค้ามนุษย์ รวมถึงการใช้เรือและเครื่องมือการทำประมงที่ทำลายล้างไม่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือหากว่ากันตามนิยามขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติจะเรียกว่า IUU Fishing (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ซึ่งในปี 2558 ประเทศไทยโดนใบเหลืองเป็นการเตือนอย่างเป็นทางการ จนสหภาพยุโรปยื่นคำขาดให้ประเทศไทยแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างจริงจัง มิฉะนั้นจะถูกห้ามส่งออกอาหารทะเลไปยัง EU ภายในสิ้นปี 2558 ซึ่งหากไปถึงขั้นนั้นย่อมทำให้ภาพลักษณ์อาหารทะเลของไทยถูกต่อต้านจากผู้บริโภคในอีกหลาย ๆ ประเทศ และคงทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าประมงของไทยไม่สามารถโตถึง 2 แสนล้านบาทได้อย่างในวันนี้

 

 

การแก้ปัญหาของประเทศไทยต่อกรณี IUU Fishing

       รัฐบาลโดยกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เป็นหน่วยงานหลักในการดึงความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนโดยมี 6 แผนงานในการแก้ปัญหา IUU Fishing ดังนี้

1.       การจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง โดยจัดหน่วยบริหารเคลื่อนที่เพื่อเร่งรัดการจดทะเบียนเรือและออกอาชญาบัตร

2.       การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง มีการจัดตั้งศูนย์ติดตามเฝ้าระวังการทำประมง ศูนย์แจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO : Port in Port out Controlling) และตรวจลาดตระเวนเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมายในน่านน้ำไทย

3.       การจัดทำระบบติดตามเรือ (VMS : Vessel Monitoring System) จัดตั้งศูนย์ควบคุมและติดตามตำแหน่งเรือ และกำหนดให้เรือขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไปต้องติดตั้งระบบติดตาม

4.       การปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสำหรับสัตว์น้ำนำเข้า และสัตว์น้ำที่จับภายในประเทศ

5.       การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการทำประมง โดยจัดทำ พ.ร.บ.การประมง 2558 และร่างกฎหมายลำดับรองภายใต้ พ.ร.บ.การประมง ด้าน IUU โดยเฉพาะ

6.       การจัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่มีการจัดทำรายงาน และไร้การควบคุม หรือ National Plan of Action – IUU (NPOA-IUU)

 

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในภาคการประมง คือตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 58 เป็นต้นมา เรือประมงลำใดที่ไม่ขึ้นทะเบียน ไม่มีใบอนุญาตจะไม่สามารถออกจับปลาได้ รวมทั้งการห้ามใช้เรืออวนลาก การติดตั้งเครื่องมือติดตามเรือประมงนอกน่านน้ำขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไป และการใช้ระบบควบคุมการแจ้งเข้าออกของเรือประมงขนาด 30 ตันกรอส

       อย่างไรก็ตามการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดของภาครัฐทำให้เรือประมงในหลายจังหวัดออกมาประท้วงเพื่อให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเรือประมงที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งรัฐบาลได้มีโครงการนำเรือออกนอกระบบโดยรัฐจ่ายเงินช่วยเหลือ หรืออาจเรียกว่าเป็นการ “ซื้อคืนเรือ” ซึ่งตั้งแต่ปี 2558 จ่ายเงินช่วยเหลือไปแล้ว 364 ลำ และอยู่ระหว่างการประเมินราคาชดเชยอีก 1,007 ลำ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการจ่ายให้แล้วเสร็จภายในปี 2566

 

 

 

 

การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังและเห็นผล

       อีกปัญหาที่ต้องแก้ควบคู่ไปกับเรื่องของเรือ และอุปกรณ์การทำประมง ก็คือแรงงานในภาคประมงที่ในอดีตมีปัญหาการใช้แรงงานที่ถูกเพ่งเล็งจากนานาชาติว่ามีปัญหาการค้ามนุษย์ โดยในปี 2557-2558 ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในระดับเทียร์ 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดของการรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ หรือ TIP Report (Trafficking in Person Report) ที่จะแบ่งปัญหาการค้ามนุษย์เป็น 4 ระดับ (Tier : เทียร์) คือ

เทียร์ 1 ประเทศที่รัฐบาลทำได้ตามมาตรฐาน

เทียร์ 2 ประเทศที่รัฐบาลกำลังใช้ความพยายามทำให้ได้ตามมาตรฐาน

เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามมอง (Watch list)  ประเทศที่มีรายงานเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นหรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลของประเทศนั้น ต่อต้านการค้ามนุษย์

และ เทียร์ 3 ประเทศที่รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำและไม่ได้ใช้ความพยายามในการแก้ไข      ซึ่งการที่ไทยมีสถานการณ์การค้ามนุษย์และถูกจัดอันดับในกลุ่มนี้ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตรทางการค้าจากสหรัฐ ยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าสำคัญของไทย

ทั้งนี้การแก้ไขปัญหา IUU Fishing ได้ผูกโยงการแก้ปัญหาการใช้แรงงานในภาคการประมงเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาทั้งระบบ โดยในส่วนของแรงงานภาคประมงมีการดำเนินการดังนี้

1.       การแก้ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติอย่างจริงจัง โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิ     อันเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์

2.       ขึ้นทะเบียนแรงงานในภาคประมง และแรงงานต่างด้าว โดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและ เป็นธรรม

3.       การตรวจคนเข้าเมือง และการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิด

4.       การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษ ดำเนินคดีการค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะเพื่อลดระยะเวลาในการดำเนินคดี

 

จากการที่ประเทศไทยมุ่งมั่นและตั้งใจแก้ปัญหาในทุกมิติอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้ในปี 2559 สถานะของไทยขยับขึ้นจากเทียร์ 3 เป็น เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง และในปี 2561 เลื่อนขึ้นมาเป็นเทียร์ 2 นับได้ว่าประเทศไทยมีพัฒนาการต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวดีที่สุดในรอบนับสิบปี โดย TIP 2018 ยังระบุว่า ไทยมีความพยายามจัดการกับปัญหาการค้ามนุษย์อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้น มีการจัดตั้งหน่วยงานที่เข้ามาดูแลและจัดการประเด็นนี้โดยเฉพาะ มีขั้นตอนกระบวนการที่กระชับขึ้น รวมถึงรัฐบาลเข้าไปมีส่วนในการสอบสวนและติดตามผลอย่างจริงจัง

การที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับที่สูงขึ้นเป็นสิ่งยืนยันความเชื่อมั่นของนานาชาติที่มีต่อทิศทางความพยายามในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลไทยในการป้องกันไม่ให้ประชาชนต้องตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ รัฐบาลยังคงมุ่งมั่นพัฒนากรอบกฎหมายและนโยบาย รวมทั้งเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายต่อไปคือการขึ้นสู่เทียร์ 1 ซึ่งเป็นการประกาศชัยชนะในการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดไปจากประเทศไทย

ในยุคที่ทั่วโลกมีการแข่งขันกันอย่างเสรีและมีมาตรฐานในการบริโภคที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ท้ายที่สุด การแก้ปัญหาในภาคการประมงทั้งระบบไปจนถึงเรื่องของแรงงานที่เห็นผลลัพธ์ในเชิงประจักษ์ ทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศซึ่งเป็นผลดีต่อสินค้าและบริการของไทย โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าส่งออกที่จะสามารถสร้างรายได้กลับสู่ประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar