ฟังวิทยุออนไลน์

รถไฟฟ้าครอบคลุมการเดินทางใน กทม.และปริมณฑล พร้อมเชื่อมต่อ รถ ราง เรือ

การเดินทางสัญจรของประชาชนที่อาศัยในกรุงเทพฯและพื้นที่ปริมณฑล นับเป็นปัญหาที่ส่งผลอย่างมากต่อการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งรถที่แออัดเต็มท้องถนน การเดินทางด้วยระบบคมนาคมที่ต้องอาศัยเวลาในการเดินทาง แม้จะมีการเพิ่มพื้นที่ถนนและพัฒนาระบบทางด่วนเองก็ตามแต่ยังไม่สามารถลดปัญหาความแออัดลงได้ รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพเพื่ออำนวยความสะดวกเป็นขนส่งหลักที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร

       จากตัวเลขเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้สร้างสถิติมีผู้ใช้บริการสูงสุด ได้แก่ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จำนวน 72,737 คน, รถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) จำนวน 29,129 คน, รถไฟฟ้า MRT สายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) และสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) รวมจำนวน 479,056 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าบีทีเอส (สีเขียว และสีทอง) รวมจำนวน 922,749 คน ทำให้ภาพรวมปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยรายวันของปี 66 สูงกว่าปี 62 ประมาณ 3% โดยปี 66 ผู้โดยสารเฉลี่ยรายวันอยู่ที่ประมาณ 1,265,320 คน

 

โครงข่ายระบบรถไฟฟ้า 10 สายเพื่ออนาคต

         จากปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19ที่ผ่อนคลายลงส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ประชาชนเริ่มออกไปทำกิจกรรมพบปะกันเช่นเดิม ทำให้รถไฟฟ้ายังคงเป็นขนส่งหลักที่อำนวยความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ภาครัฐจึงขยายโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมมากขึ้น ตามแผนแม่บทระบบขนส่งทางราง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (M-MAP) ระยะ 20 ปี (ปี 2553-2572) ดังนี้

1.       สายสีแดงเข้ม (ธรรมศาสตร์-มหาชัย) ระยะทาง 80.8 กิโลเมตร

2.       สายสีแดงอ่อน (ศิริราช-ศาลายา-ตลิ่งชัน-หัวหมาก) ระยะทาง 54 กิโลเมตร 

3.       แอร์พอร์ตลิงก์ (ดอนเมือง-บางซื่อ-พญาไท-สุวรรณภูมิ) ระยะทาง 50.3 กิโลเมตร 

4.       สายสีเขียวเข้ม (ลำลูกกา-สมุทราปราการ-บางปู) ระยะทาง 66.5 กิโลเมตร

5.       สายสีเขียวอ่อน (ยศเส-บางหว้า) 15.5 กิโลเมตร

6.       สายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง-ท่าพระ-พุทธมณฑลสาย 4) 55 กิโลเมตร

7.       สายสีม่วง (บางใหญ่-ราษฏร์บูรณะ-วงแหวนกาญจนาภิเษก) 46.6 กิโลเมตร

8.       สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) 38.9 กิโลเมตร

9.       สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) 34.5 กิโลเมตร

10.   สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 30.4 กิโลเมตร

หากสามารถดำเนินการครบตามแผนจะทำให้มีโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งสิ้นกว่า 500 กิโลเมตร เป็นการขยายจุดเชื่อมต่อในการเดินทาง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนสัญจรไปมาสะดวกได้ยิ่งขึ้น ตามที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบคมนาคมขนส่งทางราง รัฐบาลได้เร่งพัฒนาระบบคมนาคมทางรางอย่างต่อเนื่อง ทั้งรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รถไฟทางคู่ทั่วประเทศ รวมถึงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง

 

คืบหน้าแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง – สีชมพู เริ่มบริการเต็มรูปแบบปี 66

พล.อ.ประยุทธ์ได้อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง งบประมาณกว่า 48,125 ล้านบาท ปีลงทุน 2560-2566 ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 โดยกระทรวงคมนาคมได้เผยหลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพู ครั้งที่ 2/65 ที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าอย่างมาก เส้นทางสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว – สำโรง) มีการก่อสร้างแล้ว 96.79% ได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 29 ขบวน จากทั้งหมด 30 ขบวน

ส่วนสายสีชมพู (ช่วงแคราย - มีนบุรี) มีความคืบหน้า 92.28% ได้รับมอบขบวนรถไฟฟ้าแล้ว 34 ขบวน จากทั้งหมด 42 ขบวน โดยทั้งสองเส้นทางมีแผนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2566 ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างจัดทำ Proof of Safety เพื่อตรวจสอบและประเมินความพร้อมของงานโยธาและงานระบบไฟฟ้าทั้งหมด ก่อนเปิดทดลองเดินรถเสมือนจริงโดยไม่เก็บค่าโดยสาร และพิจารณารูปแบบการคิดคำนวณค่าโดยสารโดยเปรียบเทียบกับวิธีการของรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงและการใช้บัตรโดยสารร่วม

รวมถึงการปรับเส้นทางรถโดยสารประจำทางของขสมก. เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจากเดิม 59 เส้นทาง ปรับเพิ่มเป็น 81 เส้นทาง และสายสีชมพูเดิมมีรถเชื่อมต่อ 50 เส้นทาง ปรับเพิ่มเป็น 82 เส้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้แก่ประชาชนได้ใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น รวมไปถึงระบายความหนาแน่นของการจราจรในพื้นที่

พร้อมให้คณะอนุกรรมการด้านการเตรียมการขอพระราชทานนามแนวเส้นทางสำหรับทั้ง 2 โครงการ และพิจารณาขอพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์สำหรับประดิษฐานบริเวณอาคารหรือสถานี และเตรียมความพร้อมติดตั้งป้ายชื่อสถานีเมื่อได้รับพระราชทานชื่อแนวเส้นทาง

 

การวางแผนโครงข่ายไร้รอยต่อผ่าน “จุดเชื่อมต่อล้อ-ราง-เรือ” ครบวงจร 

รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม มีนโยบายมุ่งเน้นการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางรางและทางน้ำ ให้เกิดการเชื่อมโยงระบบกันแบบไร้รอยต่อผ่านการสร้างจุดเชื่อมต่อการเดินทาง “ล้อ ราง เรือ” แก้ไขปัญหาการจราจร เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณะต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้สะดวก เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตลอดแนวเส้นทาง โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยหรือ รฟม. จึงได้สร้าง “ท่าเรือพระนั่งเกล้า” เป็นท่าเรือโดยสารแห่งใหม่ เพื่อการเชื่อมต่อการเดินทาง บริเวณสถานีสะพานพระนั่งเกล้า โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรมหรือ รถไฟฟ้า MRT สาย สีม่วง บูรณาการการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) กรมเจ้าท่า (จท.) และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพื่อพัฒนาสถานีสะพานพระนั่งเกล้าให้เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญของระบบขนส่งมวลชน 3 ระบบ ได้แก่

1.   ทางราง คือ รถไฟฟ้า

2.   ทางถนน คือ รถโดยสารประจำทาง

3.   ทางน้ำ คือ เรือโดยสาร

โดยปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เผยว่า หลังการสร้างท่าเรือพระนั่งเกล้าเสร็จสิ้น ได้ดำเนินโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น (W-MAP) ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งศึกษาและสำรวจเส้นทางการเดินเรือ เพื่อเพิ่มเส้นทางการเดินทางทางน้ำ แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดทางถนน โดยได้วางแผนปรับปรุงท่าเรือที่เชื่อมต่อการขนส่งสาธารณะล้อ-ราง-เรือให้มีประสิทธิภาพที่ให้บริการในปัจจุบัน 8 จุด โดยเฉพาะท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา 4 จุด ประกอบด้วย ท่าเรือพระนั่งเกล้า ท่าเรือบางโพ ท่าเรือราชินี และท่าเรือสาทร คาดว่าจะเสนอแผนดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นชอบภายในต้นปี 2566 หรือ มี.ค. 2566 หากแผนพัฒนาการเดินทางทางน้ำ ระหว่างปี 2565-2575 ดำเนินการแล้วเสร็จ คาดว่าเส้นทางทางน้ำจะเพิ่มขึ้น 131.2 กิโลเมตร ท่าเรือเพิ่มขึ้น 97 ท่าเรือ

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar