ฟังวิทยุออนไลน์

มาตรการแก้หนี้ในระบบ 4 กลุ่ม

มาตรการแก้หนี้ในระบบ 4 กลุ่ม

 13/12/2566 |  276 | 

ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน ทั้งในส่วนของหนี้นอกระบบและในระบบ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และล่าสุด เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลงเกี่ยวกับการจัดการหนี้ทั้งระบบว่า หนี้ในระบบก็มีปัญหาไม่แพ้กับหนี้นอกระบบ การดูแลลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหาจึงถือเป็นวาระแห่งชาติเช่นเดียวกัน 
แบ่งลูกหนี้ในระบบเป็น 4 กลุ่ม
1.    ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 : เป็นกลุ่มผู้เสียหายจากการ Lock Down ช่วงโควิด ซึ่งโดยปกติจะมีประวัติการชำระหนี้มาโดยตลอด แต่สถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจต้องสะดุดหยุดลง  ขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ 
2.    ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ  แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ : แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ 
-    กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร 
-    กลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต
3.    ลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง : เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์/รถมอเตอร์ไซค์ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
4.    ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียคงค้างเป็นระยะเวลานาน : หนี้ NPLs และ หนี้เสียค้างกับธนาคารเป็นเวลานานจนติดเครดิตบูโร ไม่สามารถขอสินเชื่อเพิ่มได้
แนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้ 4  กลุ่ม
1.    กลุ่มที่ 1 ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 : กลุ่มนี้จะต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสีย (NPL) หรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 1.1 ล้านราย ส่วนลูกหนี้ SMEs  สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงค์รัฐเป็นระยะเวลา 1 ปี และลดดอกเบี้ย 1%  โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs ได้ครอบคลุมกว่า 100,000 ราย
2.    กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ  แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้ : จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทาง คือ 
-    การลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ
-    โอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว  เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้  ของลูกหนี้ หรือจัดทำสวัสดิการเงินกู้ราชการที่มีดอกเบี้ยต่ำ สอดคล้องกับศักยภาพของลูกหนี้
-    บังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยให้หักเงินไปชำระหนี้ได้ ไม่เกิน 70% ของเงินเดือน
3.    กลุ่มที่ 3 ลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน  ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง : กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือโดยการพักชำระหนี้เป็นการชั่วคราว การลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ เช่น 
-    ลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกร รัฐบาลได้มีโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยพักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี  ซึ่งโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย (ครม. มีมติเมื่อ 26 ก.ย. 66 ดำเนินแล้ว) 
-    ลูกหนี้เช่าซื้อ ให้กำหนดดอกเบี้ยเช่าซื้อรถใหม่ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 /กำหนดให้สัญญาเช่าซื้อรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์เป็นสัญญาควบคุม (สคบ. ดำเนินการตามประกาศ 12 ต.ค. 65)
-    นักศึกษา (กยศ.) ลดดอกเบี้ย ปรับแผนการจ่าย ปลดผู้ค้ำประกัน และถอนอายัดบัญชี (ผ่านคณะกรรมการ กยศ. แล้ว ดำเนินการได้เลย) 

4.    กลุ่มที่ 4 ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียคงค้างเป็นระยะเวลานาน :  กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย
   นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ รวมทั้งปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ รวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี และปิดจบหนี้ให้ได้ภายใน 5 ปี 
นายกฯ แนะ 4 แนวทางสร้างความรู้ทางการเงิน/ส่งเสริมการออม
   เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ให้สำเร็จและมีผลอย่างยั่งยืน หลายหน่วยงาน
ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันเสริมความรู้และพัฒนาทักษะการบริหารจัดการเงินให้แก่ประชาชน หรือจัดให้มีระบบการเงินชุมชนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยต่อไป เช่น 
- พัฒนาทักษะการบริหารจัดการเงิน และให้ความรู้ทางการเงิน
- ผู้กู้ กยศ. ต้องผ่านการอบรมการบริหารจัดการหนี้
- เพิ่มบุคลากรที่จะสามารถให้คำแนะนำเรื่องการแก้หนี้ หรือไกล่เกลี่ยหนี้
- ส่งเสริมวินัยการออม - บริการ “ออมเพลิน” 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar