ฟังวิทยุออนไลน์

11 มาตรการเร่งด่วน ป้องกันฝุ่น PM 2.5

11 มาตรการเร่งด่วน ป้องกันฝุ่น PM 2.5

 13/12/2566 |  645 | 

11 มาตรการเร่งด่วน ป้องกันฝุ่น PM 2.5
     กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตาม 11 มาตรการเร่งด่วน ประสานความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567 ทั้งการจัดการไฟในป่า ไฟในพื้นที่เกษตรกรรม 
การควบคุมฝุ่นละอองในเมือง การสนับสนุนและการลงทุน โดยเน้น
การเตรียมความพร้อมป้องกันการเกิดฝุ่น PM 2.5 และไฟป่า ใน 3 พื้นที่แหล่งกำเนิดหลัก ได้แก่ พื้นที่ป่า พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่เมือง รวมถึงหมอกควันข้ามแดน โดยได้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดแต่ละแหล่ง เข้มงวดในการดำเนินการตามมาตรการให้มากขึ้น เนื่องจาก ในปี 2567 ประเทศไทยจะอยู่ในสภาวะของปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะความแห้งแล้งรุนแรง และมีผลต่อสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในช่วงต้นปี 2567 ได้
 11 มาตรการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้แก่
1.    การเตรียมความพร้อมการควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาใน 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ โดยจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า จัดระเบียบควบคุมผู้เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่
2.    การเตรียมความพร้อมการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตการเผาและการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่
3.    การนำระบบการรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM2.5 Free) มาใช้กับการปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
4.    จัดหาและสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เหมาะสมในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร และมาตรการไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ
5.    การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยนำมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ และจัดตั้งศูนย์รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
6.    การพิจารณาเพิ่มเงื่อนไขเรื่องการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรในการนำเข้า - ส่งออกสินค้า เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน
7.    การพิจารณาสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
8.    การผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5
9.    การลดปริมาณฝุ่นละอองจากรถบรรทุก รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีและการตรวจจับควันดำ การเข้มงวดวินัยจราจร การคืนพื้นผิวจราจรบริเวณการก่อสร้างรถไฟฟ้า การลดจำนวนรถยนต์ในท้องถนน
โดยเฉพาะในพื้นที่เมือง สร้างจุดจอดแล้วจร และสนับสนุน           การปรับเปลี่ยนใช้รถยนต์ไฟฟ้า
10.    การลดปริมาณฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และอื่นใด
11.    การกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
   โดยทั้ง 11 มาตรการ จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติ
ที่กำหนดไว้ พร้อมรายงานความก้าวหน้าต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศทราบทุกเดือน   
เกณฑ์มาตรฐานค่าฝุ่น / ทำความรู้จัก AQI 
   AQI (Air Quality Index) หรือดัชนีคุณภาพอากาศ เป็นการรายการคุณภาพอากาศในภาพรวมของไทย โดย 1 ค่าดัชนี จะประกอบด้วย
ค่าเข้มข้นของสารพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่ 
-    PM 2.5 (ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน)
-    PM 10 (ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน)
-    โอโซน
-    คาร์บอนมอนอกไซด์
-    ไนโตรเจนไดออกไซด์
-    ซัลเฟอร์ไดออกไซด์
   ซึ่งข้อมูลการตรวจวัดค่าดังกล่าวได้มาจากการติดตามคุณภาพอากาศ โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศอัตโนมัติของกรมควบคุมมลพิษที่มีอยู่ทั่วประเทศ 
ความแตกต่างของค่า PM 2.5 และ AQI
   ฝุ่น PM 2.5  เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็นเพียงหนึ่งในพารามิเตอร์ที่ใช้คำนวณค่า AQI เท่านั้น แต่ค่า AQI ต้องใช้ค่ามลพิษทางอากาศทั้งหมด 6 พารามิเตอร์มาคำนวณร่วมกัน ค่าฝุ่น PM 2.5 จึงเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อตัวเลขดัชชีคุณภาพอากาศ เพื่อยกระดับมาตรฐานการป้องกัน ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนให้ กรมควบคุมมลพิษได้ปรับปรุงค่ามาตรฐาน PM 2.5 ใหม่ ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก โดยปรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น ไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม (เดิม ไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) และค่าเฉลี่ยรายปี เป็น ไม่เกิน 15 มคก./ลบ.ม (เดิม ไม่เกิน 25 มคก./ลบ.ม.) 
นอกจากนี้ยังมีการปรับค่า AQI ใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับค่า PM 2.5 ด้วย โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ และใช้สีเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ แบ่งออกเป็น 
-    สีฟ้า (0-25) และ สีเขียว (26-50) = คุณภาพอากาศดี เหมาะกับการกิจกรรมกลางแจ้งและท่องเที่ยว
-    สีเหลือง (51-100) = คุณภาพอากาศปานกลาง ควรเฝ้าระวังหรือลดเวลาในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
-    สีส้ม (101-200) = คุณภาพอากาศเริ่มส่งผลต่อสุขภาพ ควรลดกิจกรรมกลางแจ้ง
-    สีแดง (201 ขึ้นไป) = คุณภาพอากาศมีผลต่อสุขภาพ ควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง และใส่หน้ากากป้องกัน PM 2.5 เวลาอยู่ข้างนอกบ้าน/อาคาร
แนะนำแอปพลิเคชันสำคัญ เช่น 
-    Air4Thai : แอปพลิเคชันสำหรับรายงานคุณภาพอากาศตามภูมิภาค ที่ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร การรายงานคุณภาพอากาศ การคาดการณ์คุณภาพอากาศ ได้อย่างรวดเร็ว 
-    Burn Check: “จองคิวเผา การแก้ปัญหาไฟป่า และมลพิษทางอากาศ” เป็นแอปพลิเคชันที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศ ผ่านแนวทางการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐกับประชาชน ซึ่งสามารถลงทะเบียนใช้แอปพลิเคชันผ่านระบบ เว็บไซต์ และใช้บนสมาร์ทโฟน ระบบ Android และ IOS โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ภาคประชาชน และกลุ่มเกษตรกร ลงทะเบียนใช้งาน เมื่อผู้ใดต้องการกำจัดวัชพืชโดยการเผา หรือชิงเผา ให้ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ เพื่อขออนุญาตเผา โดยมีการพิจารณา อนุมัติผ่านศูนย์ประสานงานในระดับอำเภอ พร้อมทั้งทดสอบการพิจารณาอนุมัติคำขอโดยผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งภายในแอปพลิเคชันจะมีระบบแจ้งปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ และคุณภาพอากาศ ประกอบการพิจารณา และจะมีการแจ้งอนุมัติ แก่ผู้ขอเมื่อมีการอนุมัติ 
-    Smoke Watch (แจ้งเตือนไฟป่า) : แอปพลิเคชันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่า จากการเผาในที่โล่ง เพื่อบริหารจัดการข้อมูลการแจ้งเหตุเผาไฟป่า และเข้าระงับเหตุได้ตรงจุดอย่างรวดเร็วแจ้งเตือนไฟป่า มีรูปแบบการแจ้งเตือน 2 ประเภท คือ การแจ้งข้อมูลการเผา (แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ป่าไม้) และการแจ้งข้อมูลเพื่อเป็นเบาะแส (แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ตำรวจ) หรือเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยทันที เมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว จะเข้าไปอัปเดตสถานะของตำแหน่งที่ได้รับแจ้งในระบบ โดยระบบจะใช้เทคนิคการจัดเก็บข้อมูลลงในฐานข้อมูล เพื่อประมวลผล   คัดแยกข้อมูลใหม่ และข้อมูลเก่าสำหรับแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ให้ตรงกับวัตถุประสงค์การแจ้งเตือน ทั้งในรูปแบบเสียงและภาพถ่าย


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar